LINE it!
 @allkaset





  • มะม่วง


    มะม่วงเป็นพืชที่ปลูกเพื่อรับประทานผล และผลที่ได้นั้น สามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก มะม่วงสามารถปลูก และผลิดอกออกผลได้ดีในพื้นที่ทุกจังหวัด และทุกภาคของประเทศ แต่จะให้ผลแตกต่างกันไปตามสภาพของท้องที่ มะม่วงหลายพันธุ์ยังเป็นผลไม้ที่ตลาดต่างประเทศต้องการอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การปลูกมะม่วงแบบเป็นการค้านั้น จะต้องศึกษาถึงสภาพความเหมาะสมต่าง ๆ หลายประการด้วยกัน ผู้ปลูกจะต้องเลือกพื้นที่ให้เหมาะสมด้วย เพื่อให้ประหยัดต้นทุนในการผลิต ตลอดจนสามารถผลิตผลมะม่วงที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดได้

    ชื่อวิทยาศาสตร์ :� Mangifera indica� L.
    วงศ์ : Anacardiaceae
    ชื่อสามัญ : Mango
    ชื่ออื่น : ทั่วไป เรียก มะม่วงบ้าน, มะม่วงสวน กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี เรียก ขุ ,โคก จันทบุรี เรียก เจาะ ช๊อก ช้อก นครราชสีมา เรียก โตร้ก� มลายู-ภาคใต้ เรียก เปา ละว้า-เชียงใหม่ เรียก แป กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก สะเคาะ, ส่าเคาะส่า เขมร เรียก สะวาย เงี้ยว-ภาคเหนือ เรียก หมักโม่ง� จีน เรียก มั่งก้วย

    ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

    �������ราก มะม่วงเป็นไม้ยืนต้นจึงมีระบบรากเป็นรากแก้ว รากสามารถไชชอนลงสู่ดินได้ลึกพอสมควร ซึ่งอาจลึกได้ถึง 6 เมตร สำหรับรากดูดอาหารนั้นจะอยู่หนาแน่นที่บริเวณผิวดินลึกประมาณ 30 – 60 เซนติเมตร และจะแผ่กว้างออกเป็นรัศมีประมาณ 7.5 เมตร โดยรอบต้นในบางครั้งอาจเห็นรากมะม่วงเจริญโผล่ขึ้นมาบนดินให้เห็นหากขาดการพรวนดินพูนโคนเป็นเวลานาน

    �������ลำต้น ลักษณะลำต้นตรง สูงประมาณ 10 – 14 เมตร มีสีน้ำตาลเทา หรือเกือบดำ ขนาดของลำต้นขึ้นอยู่กับพันธุ์และอายุของต้นมะม่วง เปลือกของลำต้นแข็ง มีลักษณะขรุขระและมีเกล็ดมาก เปลือกอ่อนสีเขียว แต่เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อไม้เมื่ออายุน้อยจะมีสีเขียว เมื่อแก่มีอายุมากขึ้นจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแกมแดง ซึ่งสามารถนำมาแปรรูปใช้ในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี� โดยเฉพาะเครื่องเรือนที่อยู่ในร่ม� มีกิ่งก้านสาขาใหญ่และแข็งแรง ลักษณะทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือรูปไข่ หรือรูปไข่ค่อนข้างยาว

    �������ใบ ใบมะม่วงเป็นใบเดี่ยวเรียงตัวสลับกัน ทำให้มีลักษณะใบเรียงตัวเป็นเกลียว ที่บริเวณปลายกิ่งมักจะมีใบเกิดถี่ ใบไม่มีขน ไม่มีหูใบ ผลิใบออกมาเป็นระยะๆ ใบอ่อนมักมีสีออกแดง เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ผิวใบเป็นมัน ก้านใบยาว 1 – 10 เซนติเมตร แผ่นใบยาว 8 – 40 เซนติเมตร กว้าง 2 – 10 เซนติเมตร ใบมีรูปร่างแบบรูปโล่ รูปหอก รูปไข่ และเรียวยาว ฐานใบแคบและค่อยๆ� กว้างออกคล้ายรูปลิ่มแหลม� ปลายใบแหลม� ขอบใบมักจะเป็นคลื่น เส้นกลางใบเด่นชัดและมีเส้นใบย่อยไม่เกิน 30 คู่ ปากใบอยู่ที่ผิวใบทั้ง 2 ด้าน แต่ผิวใบด้านล่างมีจำนวนปากใบมากกว่าผิวใบด้านบน ใบมะม่วงมีอายุประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น

    �������ดอก และช่อดอก มะม่วงจะออกดอกที่ปลายกิ่งหรือตาตามกิ่งช่อดอกยาวประมาณ 10 – 16 เซนติเมตร ในแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 1,000 – 6,000 ดอก ก้านช่อดอกมักเจือสีแดงและมักมีขน ในแต่ละช่อดอกประกอบด้วยดอก 2 ประเภท คือ ดอกสมบูรณ์เพศและดอกเพศผู้ ดอกสมบูรณ์เพศจะมีเพศผู้และเพศเมียอยู่ภายในดอกเดียวกัน และสามารถเจริญเติบโตกลายเป็นผลได้เมื่อได้รับการผสมเกสร ส่วนดอกเพศผู้ ซึ่งเป็นดอกที่ไม่สามารถเจริญไปเป็นผลได้ ปกติจะมีดอกสมบูรณ์เพศประมาณร้อยละ 30 ของจำนวนดอกทั้งหมด จะมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ปริมาณแสงสว่าง และฤดูกาล
    ดอกมะม่วงมีการเรียงตัวเป็นช่อดอกย่อยแบบ Cyme มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตร ก้านดอกสั้นมาก ดอกมีกลิ่นหอม ดอกมีหลายสีแตกต่างกัน เช่น สีแดง ชมพู หรือขาว กลีบเลี้ยงมักมี 5 กลีบแยกกัน กลีบเลี้ยงมีลักษณะโค้งนูนสีเขียวอมเหลือง มีขนแข็งยาวๆ ปกคลุมอยู่ กลีบดอกมักมี 5 กลีบ กลีบดอกยาวเป็น 2 เท่าของกลีบเลี้ยง มีสีเหลืองและมีร่องสีเหลืองเข้มมีผิวด้านใน เมื่อแก่กลีบดอกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู ระหว่างชั้นกลีบดอกและอับเกสรตัวผู้มีแผ่นจานวงกลม 5 พูคั่นอยู่ มีเกสรตัวผู้แทรกอยู่ที่ขอบด้านนอกของจานวงกลม 5 อัน เกสรตัวผู้ที่ทำงานได้มีจำนวนเพียง 1 อัน หรือไม่เกิน 2 อัน เกสรตัวผู้ที่เหลือจะไม่ทำงาน เกสรตัวผู้ยาว 2 มิลลิเมตร มีสีชมพู เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ในดอกตัวผู้เกสรตัวเมียจะฝ่อไป ส่วนในดอกสมบูรณ์เพศจะมีรังไข่ 1 ช่อง รูปร่างเบี้ยวไม่มีก้าน ก้านเกสรตัวเมียและยอดเกสรตัวเมียมีขนาดเล็ก ไข่มีจำนวน 1 ฟอง
    มะม่วงจะเริ่มออกดอกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ช่วงการบานของดอกประมาณ 25 – 30 วัน ดอกจะบานในเวลากลางคืนถึงตอนเช้าตรู่


    �������ผล� ผลมะม่วงมีความแตกต่างกันมากในเรื่องของขนาด รูปร่าง สี ปริมาณเสี้ยน รสชาติ และกลิ่น แต่ผลมะม่วงจะมีผิวเรียบ ความยาวของผลมีตั้งแต่ 2.5 – 3.0 เซนติเมตร กว้าง 1.5 – 1.0 เซนติเมตร รูปร่างของผลมีตั้งแต่กลมไปจนถึงรูปไข่ค่อนข้างยาว ผลมักจะแบนด้านข้าง รูปร่างของผลอาจแตกต่างกันในส่วนของแก้ม ไหล่ หลัง ปลาย คาง และจะงอย สีของผลประกอบด้วยส่วนผสมของสีต่างๆ เช่น สีเขียว เหลือง และแดง รสชาติมีตั้งแต่หวานและฉ่ำน้ำมากไปจนถึงเปรี้ยว และค่อนข้างแข็ง� กลิ่นมีตั้งแต่กลิ่นอ่อนไปจนถึงกลิ่นรุนแรง ผลจะแก่ภายใน 3 – 4 เดือนหลังจากดอกบาน
    ผลมะม่วงมีเปลือก 3 ชั้น คือ เปลือกชั้นนอก (exocarp) หรือเปลือกผิวเรียบ จะหนาและมีต่อมเกิดเป็นจุดๆ คือต่อมน้ำมัน (oil gland) กระจายอยู่ทั่วไป เปลือกชั้นกลาง (mesocarp) คือส่วนที่เป็นเนื้อรับประทานได้ ความหนาของเนื้อมากน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ เนื้อละเอียด สีขาวอมเขียวเมื่อดิบ สีเหลืองอมส้มเมื่อแก่จัด สีเหลืองอมส้มเข้ม ขึ้นเมื่อสุก และเปลือกชั้นใน (endocarp) คือส่วนที่เป็นเปลือกห่อหุ้มเม็ด มีลักษณะเป็นเสี้ยนและแข็งคล้ายไม้ เปลือกชั้นในอาจล่อนหรือมีเสี้ยนยึดติดกับเปลือกชั้นกลางก็ได้

    �������เมล็ด� เมล็ดที่อยู่ถัดจากเปลือกชั้นในเข้าไปมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงเกือบไม่มีเม็ดหรือเมล็ดลีบ เปลือกหุ้มเมล็ดมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น คือ เปลือกเมล็ดชั้นนอก (testa) กับเปลือกเมล็ดชั้นใน (tegmen) ทั้งสองชั้นมีสีน้ำตาลหุ้มเอนโดสเปิร์ม (endosperm) และเอ็มบริโอ (embryo) ไว้ เอนโดสเปิร์มอาจแยกได้เป็น 2 อัน อาหารเลี้ยงเอ็มบริโอไม่อยู่ในใบเลี้ยงแต่อยู่ที่เอนโดสเปิร์ม

    พันธุ์มะม่วง
    มะม่วงมีมากมายหลายสิบพันธุ์ อาจแบ่งเป็นพวกได้ตามลักษณะการใช้ประโยชน์ คือ
    (1) มะม่วงสำหรับรับประทานผลดิบ เช่น พิมเสนมัน แรด เขียวเสวย มันหนองแซง ฟ้าลั่น เป็นต้น
    (2) มะม่วงสำหรับรับประทานผลสุก เช่น อกร่อง น้ำดอกไม้ หนังกลางวัน ทองดำ เป็นต้น
    (3) มะม่วงที่ปลูกเพื่อการอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้
    - มะม่วงสำหรับดอง เช่น มะม่วงแก้ว เป็นต้น
    - มะม่วงสำหรับบรรจุกระป๋อง เช่น ทำน้ำคั้น มะม่วงแช่อิ่ม เช่น มะม่วงสามปี เป็นต้น
    สำหรับมะม่วงพันธุ์ที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ได้แก่ มะม่วงสุกพันธุ์หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ ทองดำ และมะม่วงแก้ว ซึ่งตลาดต่างประเทศที่ประเทศไทยส่งไปจำหน่ายมากได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย

    มะม่วงแก้วแดง
    มะม่วงแก้ว
    มะม่วงแก้วขมิ้น
    มะม่วงฟ้าลั่น
    มะม่วงแรด
    มะม่วงอกร่องพิกุล
    มะม่วงทองดำ
    มะม่วงน้ำดอกไม้
    มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
    มะม่วงเขียวเสวย
    มะม่วงมหาชนก
    มะม่วงน้ำดอกไม้สีม่วง

    สภาพพื้นที่ที่เหมาะสม
    �������มะม่วงสามารถปลูกและผลิดอกออกผลได้ดีในพื้นที่ทุกจังหวัด และทุกภาคของประเทศ แต่จะให้ผลแตกต่างกันไป ตามสภาพของท้องที่ ยกเว้น บางจังหวัดในภาคใต้ที่มีปริมาณฝนตกมาก และการกระจายของฝนเกือบตลอดปี กล่าวคือ ถ้าปลูกในที่ที่มีฝนตกมากแล้ว จะทำให้มะม่วงเจริญเติบโตทางด้านลำต้นมาก แต่ไม่ออกดอกออกผลเท่าที่ควร การปลกูมะม่วงเป็ฯการค้าและปลูกเป็นจำนวนมากๆ ควรคำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม ดังต่อไปนี้
    �������1. ปริมาณน้ำฝนและความชื้นในอากาศ สามารถปลูกมะม่วงได้ทุกภาค นอกจากบางท้องที่ที่มีฝนตกชุกทั้งปี ไม่มีช่วงแล้งคั่นเลย โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม มกราคมและ กุมภาพันธ์ ซึ่ง เป็นระยะที่มะม่วงจะออกดอก ถ้ามีฝนตกหรือความชื้นมาก ยอดที่แตกมาใหม่จะเจริญไปเป็นใบเสียหมด แทนที่จะเจริญเป็นดอก ในสภาพดินฟ้าอากาศเช่นนี้ จึงไม่เหมาะที่จะปลูกมะม่วงเป็นการค้า นอกจากจะปลูกพันธุ์ที่ออกดอกง่าย หรือใช้วิธีการอื่นๆ ช่วยเร่งการออกดอก
    �������2. อุณหภูมิ ปกติมะม่วงชอบอากาศร้อน และทนต่ออากาศที่ร้อนและแห้งแล้งได้ ไม่ชอบอากาศที่เย็นจัด ถ้าอากาศเย็นจัดเกินไปต้นมะม่วงอาจตายได้ สำหรับในประเทศไทย ยังไม่พบว่า เกิดความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิร้อนหนาวของอากาศอย่างเด่นชัดนัก จึงสามารถปลูกมะม่วงได้ทุกภาค และเป็นที่สังเกตได้ว่า ปีใดอากาศหนาวมาก ปีนั้นมะม่วงจะออกดอกมาก
    �������3. ดิน มะม่วงปลูกได้ในดินทั่วไป ดินที่มะม่วงชอบดือ ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ที่อุดมสมบูรณ์ด้วย อินทรีย์วัตถุ มีธาตุอาหารอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคือดินปลูกต้องระบายน้ำได้ดีมะม่วงไม่ชอบดินที่เหนียวจัด จับกันเป็นก้อนแข็งจนนํ้าระบายไม่ได้
    �������4. ความลึกของหน้าดินและระดับนํ้าในดิน ถ้าระดับความลึกของหน้าดินน้อย มีดินดานอยู่ข้างล่าง หรือดินปลูกมีระดับนํ้าในดินตื้นรากมะม่วงก็ไม่สามารถหยั่งลึกลงไปในดินได้ แต่จะแผ่ขยายอยู่ในระดับตื้นๆ ทำ ให้ต้นมะม่วงไม่เติบโตเท่าที่ควร ต้นมีอายุไม่ค่อยยืนและโค่นล้มได้ง่าย
    �������5. ความเป็นกรดเป็นด่างของดิน มะม่วงไม่ชอบดินที่เป็นด่างมาก หรือดินที่มีหินปูนมาก ดินที่เป็นด่างจะทำให้มะม่วงเติบโตช้าโดยเฉพาะต้นอ่อนจะตายง่าย ดินที่เหมาะสำ หรับมะม่วงคือ ดินที่มีสภาพเป็นกรดอ่อนๆ ถึงเป็นกลาง (pH. 6.5 - 7.5)
    �������6. นํ้า หากมีนํ้าที่จะให้แก่ต้นมะม่วงอย่างเพียงพอ จะช่วยให้ต้นมะม่วงเติบโตเร็ว แข็งแรง ไม่ชะงักการเติบโต โดยเฉพาะระยะที่มะม่วงกำลังติดผลเล็กๆ ถ้ามีนํ้าให้อย่างเพียงพอ จะทำให้ติดผลได้มาก ผลมักไม่ร่วง การปลูกมะม่วงจึงควรมีแหล่งนํ้าอยู่ใกล้ๆ การพึ่งแต่นํ้าฝนเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผลเท่าที่ควร
    �������7. ลม ปัญหาอีกประการหนึ่งของการปลูกมะม่วงก็คือ ผลมะม่วงร่วงหล่นเพราะลมแรง ทั้งนี้เนื่องจากก้านผลมะม่วงยาวและแก่วงไกวได้เมื่อลมพัด ทำ ให้ผลกระทบกระแทกกัน ร่วงหล่นมาก บางแห่งผลมะม่วงอาจร่วงหล่นเพราะเหตุนี้เกินกว่าครึ่ง

     

    การปลูกมะม่วง

    การเตรียมพื้นที่
    �������การเตรียมพื้นที่ปลูก“พื้นที่ดอน” การปลูกมะม่วงในพื้นที่ดอนจะต้องปรับพื้นที่ให้ค่อนข้างเรียบเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงาน เก็บเศษไม้และก้อนหินออกให้หมด จากนั้นให้ไถดินตากไว้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์
    �������การเตรียมพื้นที่ปลูก “พื้นที่ลุ่ม” สำหรับในพื้นที่ลุ่มอาจจะมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มที่มีประวัติน้ำท่วมขังสูง ถ้าระดับน้ำเคยท่วมสูงมากจะต้องทำคันกันน้ำให้สูงกว่าระดับที่น้ำเคยท่วมมาก่อนประมาณ 0.5-1 เมตร แล้วจึงยกร่อง แต่หากน้ำขังไม่มากให้ใช้วิธีการยกร่องอย่างเดียวก็พอ การขุดร่องโดยทั่วไปแล้วควรจะต้องให้สันร่องมีความกว้างประมาณ 5 เมตร ตัวร่องน้ำกว้างประมาณ 1.50-2 เมตร ส่วนความลึก ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่แต่ละแปลง ทีต้องกำหนดให้มีสันร่องกว้างๆ� ก็เพื่อความสะดวกของผู้ปฏิบัติงาน คนงานสามารถห่อผลผลิตได้ มีพื้นที่ในการตั้งบันได

    �������ระยะปลูก ระยะปลูกระหว่างต้นและแถวที่แนะนำคือ 6 x 6 เมตร จำนวน 45 ต้นต่อไร่�� หรือจะเลือกเอาตามความเหมาะสมของพื้นที่� (8x8 เมตร, 6x5 เมตร)

    �������การเตรียมหลุมปลูก หากเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แนะนำให้ใช้เครื่องเจาะหลุมช่วย เป็นการประหยัด เวลาและช่วยประหยัดค่าแรงงานไปได้มาก เครื่องเจาะที่นิยมใช้โดยทั่วไปจะมีขนาดหลุม กว้าง 50-75เซนติเมตร เจาะลึกลงไปประมาณ 50 เซนติเมตร แต่หากเป็นการปลูกไว้ตามสวนหลังบ้านแบบบ้านละ 1-2ต้น ให้ใช้จอบขุดหลุมกว้าง ยาว และ ลึก 50 เซนติเมตร ก็พอ หลังขุดหลุมเสร็จให้หาปุ๋ยคอกเก่ามาผสมกับดินที่ขุดขึ้นมา ต้นละ 5 กก. พยายามใช้จอบผสมคลุกเคล้าดินกับปุ๋ยคอกให้เข้ากันดีเพราะหากผสมไม่ดีอาจมีปัญหาทำให้มะม่วงที่ปลูกใหม่ตายเพราะปุ๋ยคอกได้ เมื่อผสมเสร็จให้โกยดินที่ผสมลงในหลุมเหมือนเดิม โดยพูนดินให้เป็นในลักษณะหลังเต่า ทิ้งเวลาไว้ประมาณ 7-10 วัน จึงเริ่มปลูกมะม่วงได้ แต่บางครั้งพบเกษตรกรบางรายใช้วิธีขุดหลุมแล้วปลูกเลยปุ๋ยคอกจะนำมาใส่ทีหลัง วิธีนี้ก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะคนที่ปลูกในพื้นที่มากๆ� และไม่สามารถหาแรงงานในการเตรียมหลุมได้

    �������การปลูก� เมื่อเราได้กิ่งพันธุ์มาแล้ว ก่อนปลูกประมาณ 1-2 วัน ต้องงดน้ำเพื่อให้ดินในถุงแห้งป้องกันดินแตกเวลาปลูก (ดูว่าให้แค่พอแห้งไม่ใช่ปล่อยจนมะม่วงเหี่ยว) ก่อนปลูกอาจรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี ถ้าปลูกแปลงใหญ่ แนะนำให้ขุดหลุมให้เสร็จเสียก่อนแล้วค่อยปลูกทีหลัง เพื่อความสะดวกในการเล็งต้นให้เป็นแนวตรงกัน ที่สำคัญก่อนปลูก เวลาวางกิ่งพันธุ์ ห้ามให้กิ่งพันธุ์ล้มหรือนอน เพราะกิ่งพันธุ์จะตายได้ง่าย ต้องวางกิ่งพันธุ์ให้ตั้งเท่านั้น
    ข้อควรระวังในการปลูก
    1. ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน
    2. ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง และลึกประมาณ 50-75 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับสภาพดิน
    3. ผสมหน้าดินกับปุ๋ยคอกจำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟตจำนวน 500 กรัม เข้าด้วยกัน
    4. รดน้ำต้นพันธุ์ให้ชุ่มเพื่อสะดวกในการถอดถุง ยกถุงต้นกล้าไม้วางในหลุมโดยให้ระดับของดิน��� ในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
    5.ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากถุง ทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงในหลุม
    6. ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมโยก
    7. หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว� หญ้าแห้ง
    8. รดน้ำให้ชุ่ม
    9. ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสดงแดด

    การให้น้ำมะม่วง
    �������มะม่วงปลูกใหม่ การปลูกมะม่วงในระยะแรกจะต้องให้น้ำ ให้ดินมีความชื้นอยู่เสมอโดยให้ดูจากความชื้นของดินเป็นหลัก กรณีปลูกมะม่วงหน้าฝนอาจจะไม่ต้องรดน้ำเลยก็ได้ แต่หากเป็นช่วงฤดูแล้งอาจจะต้องรดน้ำ 3-4 วัน ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพของดินและอากาศ ในช่วงฤดูแล้งเกษตรกรหลายท่านใช้ฟางข้าวมาคลุมที่โคนต้นมะม่วงเพื่อลดการระเหยของน้ำทำให้ดินมีความชื้นได้นานขึ้น เว้นระยะเวลาในการรดน้ำนานออกไปได้ สิ่งที่ต้องจำไว้เสมอสำหรับมะม่วงปลูกใหม่ก็คือ ห้ามขาดน้ำโดยเด็ดขาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแตกใบอ่อน หากขาดน้ำต้นมะม่วงอาจตายได้ และต้นมะม่วงที่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าต้นมะม่วงที่ขาดน้ำอย่างเห็นได้ชัด
    �������สำหรับมะม่วงที่โตแล้วและกำลังติดผล� อาจมีการให้น้ำบางระยะเท่านั้น� ช่วงที่มะม่วงต้องการน้ำมากที่สุด มีอยู่ 2 ช่วง คือ ช่วงที่มีการเจริญเติบโตทางกิ่งและใบ และช่วงระยะติดผลอ่อน สำหรับช่วงก่อนออกดอกมะม่วงต้องการน้ำน้อยหรือไม่ต้องการน้ำเลย� แต่ช่วงที่มะม่วงติดผลแล้ว จะมีความต้องการน้ำค่อนข้างสูง� และต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ

    วิธีใส่ปุ๋ยกับมะม่วง
    �������ปุ๋ยปรับโครงสร้างสภาพดิน มะม่วงเป็นไม้ผลที่ชอบดินที่ร่วนซุย มีการระบายน้ำและอากาศที่ดี จึงแนะนำให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่นพวกปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยน้ำปรับปรุงสภาพดิน ให้เป็นประจำทุก ๆ� ปี อาจใส่ปีละสองครั้งคือ ช่วงต้นฤดูฝนและปลายฝน ทั้งนี้ก็เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย เหมาะต่อการเจริญเติบโตของต้นมะม่วง ถึงแม้การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ จะมีธาตุอาหารไม่มากนัก แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อดินในระยะยาว นอกจากจะช่วยทำให้ดินดีขึ้นแล้ว ยังสร้างความสมดุลให้กับปุ๋ยเคมีที่เราใส่ให้กับต้นมะม่วง ทำให้ปุ๋ยเคมี ที่ใส่ลงไปนั้นถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
    �������ปุ๋ยเคมี เป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารมากกว่าปุ๋ยอินทรีย์ และให้ประโยชน์แก่ต้นพืชอย่างรวดเร็ว สำหรับดินที่เห็นว่าขาดธาตุอาหารจึงควรใส่ปุ๋ยเคมีบ้าง จะทำให้ต้นมะม่วงโตเร็ว สมบูรณ์ ให้ดอกให้ผลได้มากและสม่ำเสมอ
    �������ระยะกล้าพันธุ์ การใส่ปุ๋ยเคมีให้ต้นมะม่วง อาจให้ตั้งแต่ระยะที่ต้นมะม่วงยังเป็นต้นกล้า โดยใช้ปุ๋ยแอมโมเนี่ยมซัลเฟต 2 - 4 ช้อนแกงผสมน้ำ 1 ปี๊บ รดที่ต้นกล้าเดือนละ 2 ครั้ง จะช่วยให้ต้นกล้าโตเร็ว แข็งแรงสามารถนำไปปลูกหรือใช้เป็นต้นตอได้เร็ว
    �������มะม่วงลงแปลง เมื่อนำต้นมะม่วงไปปลูกในแปลงจริง การใช้ปุ๋ยฟอสเฟตหรือกระดูกป่นใส่รองพื้นหลุม ก็จะช่วยให้รากมะม่วงเจริญเติบโตได้ดี ทำให้ต้นตั้งตัวและเติบโตเร็ว
    �������มะม่วงที่ยังไม่ให้ผล สำหรับต้นมะม่วงที่ยังไม่ให้ผล อาจใช้ปุ๋ยสูตร 4-7-5 หรือ 4-9-3 ใส่ให้แก่ต้นเพื่อเพิ่มธาตุอาหารในดิน
    �������มะม่วงที่ให้ผลแล้ว สำหรับต้นมะม่วงที่ให้ผลแล้ว อาจใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้
    ถึงอย่างไรก็ตาม การใช้ปุ๋ยเคมี เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาเสียก่อน เพื่อให้ได้ผลอย่างเต็มที่ ไม่เกิดการสูญเปล่า เพราะความอุดมสมบูรณ์ของดินและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ� ของแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกัน อีกประการหนึ่งต้นมะม่วงเป็นไม้ผลที่มีขนาดใหญ่ รากสามารถหยั่งลึกหาอาหารได้ไกล ๆ� ถ้าดินนั้นเป็นดินดี อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหารอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีก็ได้ ให้ปรับปรุงดินโดยการใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำปรับสภาพโครงสร้างดิน(ปุ๋ยที่ได้จากการหมักอินทรีย์)อยู่เสมอก็น่าจะเพียงพอแล้ว

    วิธีการใส่ปุ๋ย
    ต้นมะม่วงที่ยังเป็นต้นกล้า หรือต้นมะม่วงที่ยังเล็กอยู่ แนะนำให้ขุดพรวนรอบ ๆ ต้น (ประมาณครึ่งฝ่ามือ) แล้วหว่านปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก จากนั้นจึงหว่านปุ๋ยเคมีตามลงไปกลบดินบางๆ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
    ต้นมะม่วงที่โตแล้ว อาจใช้วิธีขุดเป็นรางดินรอบต้นภายในรัศมีของทรงพุ่ม (ประมาณ 1 เมตร) โดยขุดให้ลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ แล้วใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักลงไป ตามด้วยปุ๋ยเคมี แล้วกลบดินรดน้ำให้ชุ่ม

    การตัดแต่งกิ่ง
    �������ตัดแต่งกิ่งมะม่วงขนาดเล็ก� เมื่อต้นมะม่วงสูงในระยะ 1 เมตร (แต่สำหรับมะม่วงระยะชิดควรเป็น 0.5 เมตร)� แต่ยังไม่แตกกิ่งก้านสาขา� ควรใช้กรรไกรหรือมีดคมตัดปลายยอดทิ้ง� เพื่อให้แตกกิ่งก้านสาขาแล้วเลือกกิ่งที่แข็งแรงไว้เพียง 3-4 กิ่ง� โดยแต่ละกิ่งทำมุมเท่า ๆ� กันแล้วตัดกิ่งอื่นที่ไม่ต้องการออก
    �������การตัดกิ่งมะม่วงที่ให้ผลแล้ว� ควรทำการตัดกิ่งหลังจากเก็บเกี่ยวผลแล้วทุกปี� โดยเริ่มจากกิ่งใดกิ่งหนึ่งจากโคนกิ่งไปยังปลายกิ่งจนครบทุกกิ่ง� โดยทำการตัดกิ่งกระโดง� กิ่งน้ำค้าง� กิ่งไขว้� กิ่งแห้ง� กิ่งเป็นโรคแมลง� กิ่งฉีกหักเสียหาย� และกาฝาก� กิ่งซ้อนทับตำแหน่งกิ่งใหญ่ ๆ� ที่มีกิ่งเล็กกิ่งน้อย� ให้ตัดออก� ตำแหน่งกิ่งใหญ่ ๆ ทีมีกิ่งเล็กกิ่งน้อย� ให้ตัดออก� ตำแหน่งปลายกิ่งที่แตกเป็นกระจุกให้ตัดไว้เหลือ 2-3 กิ่งที่เหมาะสม

    การห่อผล

    ������� ระยะที่ต้องห่อผล ควรมีการห่อผลที่อายุ 50-60 วัน� หลังดอกบานหรือผลมีขนาดเท่าไข่ไก่� เพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้วางไข่� ลดความรุนแรงการทำลายของแอนแทรคโนสและทำให้ผิวสวย� ถุงควรเป็นถุง 2 ชั้น� ด้านในเป็นกระดาษดำ
    การห่อต้องประณีต เพื่อป้องกัน แมลง� กิ่ง และก้านทำให้ผิวเสีย น้ำฝน และน้ำค้างลงขั้ว และใช้ถุงสำหรับห่อใหม่ทุกครั้ง มีการฝึกอบรมคนงานห่อให้เข้าใจในการห่อ ก่อนห่อควรพ้นสารป้องกันแมลงแล้วปล่อยให้แห้งแล้วจึงห่อผล

    การเก็บเกี่ยวและการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
    เป็นช่วงที่จะได้รับผลตอบแทนจากการปฏิบัติดูแลรักษา ดังนั้น ควรทำด้วยความประณีต โดยพิจารณาจาก
    1. อายุการเก็บเกี่ยว โดยมะม่วงเพื่อการบริโภคสด ต้องเก็บผลแก่ �แต่ยังไม่สุก� คือมีการพัฒนาทางสรีระมากเพียงพอที่จะสามารถสุกได้เป็นปกติ สังเกตจาก
    1.1 นวลที่ผิว� สีของผล� สีของเนื้อ
    1.2 นับจำนวนวันจากการติดผลหรือแทงช่อดอกจนถึงเก็บเกี่ยว (สภาพอากาศมีส่วนให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้)� เช่น� มะม่วงน้ำดอกไม้ออกดอกในฤดูฝนจะเก็บเกี่ยวใช้เวลา� 85 – 90 วัน� แต่ถ้าออกดอกฤดูหนาวต้องใช้ช่วงเวลาประมาณ 110 – 120 วัน
    1.3 ทดสอบโดยการลอย-จม น้ำ� มะม่วงแก่จมน้ำ อ่อนจะลอยน้ำ(ใช้ไม่ได้กับมะม่วงทุกชนิด แต่มะม่วงน้ำดอกไม้ใช้ได้และนิยมทำกัน)
    2. วิธีการเก็บเกี่ยว�� ต้องเก็บด้วยความระมัดระวัง โดยวิธีการเก็บเกี่ยวให้เหลือขั้วผลยาวป้องกันน้ำ��� ยางไหลจากผล และยืดเวลาไม่ให้เชื้อราเข้าทางขั้ว (ควรรีบนำผ่านขบวนการล้างโดยใช้เวลาจากเก็บเกี่ยวถึงการล้างไม่ควรเกิน 6 ช.ม.)� รีบนำเข้าที่ร่มและขนบ้ายไปยังโรงเรือนคัดบรรจุ
    3. การคัดเลือกคุณภาพผลผลิต� โดยคัดเลือกผลที่มีตำหนิโรค แมลงรบกวน รอยธรรมชาติที่ไม่มากเกิน� ตัดขั้วมะม่วงให้มีความยาวประมาณ 1 ซม. คัดขนาดผลและและความสวยงามทั้งรูปลักษณ์ รอบแผล
    ตำหนิต่าง ๆ� เพื่อแยกเกรดในระดับคุณภาพ บรรจุลงภาชนะ หรือปฏิบัติขั้นตอนเพื่อการเก็บรักษา ขนส่งหรือจำหน่ายต่อไป

    โรคพืชในมะม่วง

    โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)

    ��


    สาเหตุ: เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides
    ลักษณะอาการ:
    ใบอ่อนที่แตกออกมาใหม่ จะปรากฏอาการจุดสีน้ำตาลเข็มขนาดเล็กจํานวนมาก แผลที่อยู่ใกล้กันอาจจะลุกลามติดกัน ทําให้เกิดแผลที่มีรูปร่างไม่แน่นอน แผลบางแผลอาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อลมพัดบริเวณกลางแผลอาจฉีกขาด ทําให้เกิดรูขึ้นบนใบ โรคที่เกิดรุนแรงจนกระทั่งกิ่งมะม่วงอาจจะแสดงอาการไหม้แห้งเป็นสีน้ำตาลเข็มตั้งแต่ปลายยอดลุกลามลงมาด้านล่าง ช่อดอกจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็ก หากมีการระบาดรุนแรงช่อดอกอาจจะแสดงอาการไหม้ดําเสียหายหมดทั้งช่อ สําหรับอาการบนผลอ่อนจะปรากฏแผลสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กบนผลอาการของโรคจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผลเริ่มสุก แผลจะขยายใหญ่ขึ้นมีสีน้ำตาลเข้มหรือดํา เชื้อราจะเข้าทําลายเฉพาะผิวของผลเท่านั้น เมื่อแผลขยายใหญ่ปกคลุมผิวส่วนใหญ่ของผล เชื้อราอาจเข้าทําลายลึกเข้าไปในเนื้อผลประมาณ 5 มิลลิเมตร เมื่อผิวของผลเริ่มเน่าจะพบกลุ่มสปอร์มีลักษณะเป็นเหลวสีส้มหรือสีชมพูเกิดขึ้นบนผล เชื้อราจะสร้างสปอร์บนใบ หรือกิ่งที่แห้งตาย หรือบนพืชชนิดอื่น สปอร์แพร่กระจายโดยลมหรือฝนพัดพาไป เมื่อเชื้อราเข้าทําลายแผลจะเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว แต่บนผลที่ยังไม่แก่ชื้อที่เข้าทําลายอาจจะไม่ทําให้ปรากฏอาการขึ้นบนผล เชื้อสามารถพักตัวอยู่ได้ภายในผลเป็นเดือน จนกระทั่งผลสุกแก่จึงจะแสดงอาการให้เห็น
    การป้องกันกําจัด
    1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ลมพัดผ่านได้ดี กําจัดวัชพืชภายในสวนให้สะอาด และตัดแต่งกิ่งก้านและใบที่เป็นโรคนําไปฝังหรือเผาทําลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งของเชื้อในการแพร่ระบาดต่อไป
    2. พ่นสารป้องกันกําจัดเชื้อราชนิดดูดซึม เช่น เบนโนมิล, คาร์เบนดาซิม, อะซอกซี่สะโตรบิน, ไธโอฟาเนท-เมทธิล และโปรคลอราช และชนิดที่ไม่ดูดซึม เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์, แมนโคเซบ, โปรพิเนบ และแคปแทน ใช้ตามอัตราแนะนํา ถ้าฉีดพ่นสารเคมีในฤดูฝนต้องผสมสารจับใบเพื่อไม่ใหให้น้ำฝนชะล้างสารเคมีสู่พื้นดิน การพ่นสารเคมีก่อนออกดอกเล็กน้อย หรือว่าเวลาที่ออกดอกพอดีช่วยให้การติดผลดีขึ้น และการฉีดพ่นซ้ำอีกเป็นระยะๆ ช่วยลดการเกิดโรคทั้งก่อน และหลังการเก็บเกี่ยวลงได้

    โรคราแป้ง (Powdery Mildew)

    ���


    สาเหตุ: เชื้อรา Oidium mangiferae Berthet
    ลักษณะอาการ:
    เชื้อราสามารถเข้าทําลายส่วนต่างๆ ของมะม่วง เช่น ใบช่อดอก และผลอ่อน สังเกตได้ง่ายเพราะเชื้อราสร้างเส้นใย และสปอร์คล้ายผงแป้งสีขาว ขึ้นปกคลุมส่วนต่างๆ ของมะม่วงดังกล่าวหากนําเนื้อเยื่อที่เชื้อเข้าทําลาย และมีผงสีขาวเกาะอยู่ไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นลักษณะของเส้นใย และสปอร์ของเชื้อรา ในกรณีที่เชื้อราเข้าทําลายระยะดอก จะทําให้ช่อดอกแห้งและดอกร่วงบางช่อดอกร่วงหมดทั้งช่อ เหลือไว้แต่ก้านช่อดอกที่มีผงสีขาวคลุมอยู่ ส่วนในระยะผลอ่อน จะพบบริเวณก้านผลถูกทําลาย ทําให้ผลอ่อนร่วงเกือบหมด หรือร่วงหมดทั้งช่อเช่นกัน ราที่เข้าทําลายก้านผลอ่อนบางครั้งลุกลามไปสู่ผลด้วย ผลอ่อนปกคลุมด้วยราสีขาว ทําให้ผลอ่อนแห้งเป็นสีน้ำตาล และร่วงในที่สุด ส่วนผลมะม่วงที่โตเมื่อมีผงสปอร์สีขาวของราแป้งขึ้นปกคลุมจะแสดงอาการที่ผิวตกกระเป็นคราบสีเทา หรือสีน้ำตาลราแป้งเข้าทําลายพืชในขณะที่มีอากาศเย็น และในช่วงที่ความชื้นในบรรยากาศต่ำ แต่ช่วงที่เหมาะต่อการเกิดโรค คือ อุณหภูมิ10-31 องศาเซลเซียส ความชื้น 60-90 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุของราแป้งที่อาศัยอยู่ตามช่อดอก และตาใบ หรือสปอร์ของเชื้อราที่ลมพัดพามาจากแหล่งอื่น เข้าทําลายใบอ่อนหรือช่อดอก หลังจากนั้นเชื้อราจะผลิตสปอร์ เพื่อขยายพันธุ์ขึ้นมาเป็นจํานวนมาก ลมพัดพาเอาสปอร์แพร่ระบาดต่อไปบนใบอ่อน หรือชอดอกทั่วทั้งสวนมะม่วง
    การป้องกันกําจัด
    1. ในระยะที่มะม่วงแตกใบอ่อน หรือออกดอก โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเย็นและแห้ง ควรตรวจดูช่อดอก หรือใบอ่อนอย่างสม่ำเสมอ หากเริ่มพบโรคเข้าทําลาย ควรฉีดพ่นสารเคมีกําจัดเชื้อราทันที
    2. สารเคมีที่แนะนํา ได้แก่ กํามะถันผงละลายน้ำได้ดี ใช้ฉีดพ่นในช่วงที่แดดไม่ร้อนจัด เพราะอาจจะทําให้ใบอ่อน หรือช่อดอกไหม้ได้
    3. ในกรณีที่โรคระบาดไม่รุนแรงอาจใช้ป้องกันกําจัด โดย แมนโคเซบ ใช้กําจัดโรคแอนแทรกโนสอัตราแนะนําตามฉลาก
    4. สารกําจัดเชื้อราชนิดดูดซึมที่มีประสิทธิภาพสูง โดยฉีดพ่นในระยะแทงช่อดอกด้วย ไตรอะไดมีฟอนหรือ คาร์เบนดาซิม อัตราแนะนําตามฉลาก

    โรคใบจุดสาหร่าย (Algal leaf spot)

    ������


    สาเหตุ: สาหร่ายสีเขียว Cephaleuros virescens Kunze
    ลักษณะอาการ:
    บนใบมะม่วงจะพบจุดแผลสาหร่ายขนาดเล็ก มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 มม. สีส้มหรือสีสนิมแดงนูนขึ้นคล้ายกํามะหยี่ จุดแผลเกิดขึ้นได้ทั้งใบด้านบนและด้านล่าง แผลขนาดเล็กอาจจะลุกลามรวมกันกลายเป็นแผลขนาดใหญ่ได้ ในระยะหลังแผลจะเปลี่ยนเป็นสีเทาอมเขียว ซึ่งเป็นอีกระยะหนึ่งของวงจรชีวิตของเชื้อโรคบางครั้งจะพบแผลสีส้มบนกิ่งของมะม่วง ทําให้เปลือกแตก เพราะเส้นใยของสาหร่ายเจริญเข้าไปในเนื้อเยื่อด้วยเชื้อจะสร้างสปอร์ขึ้นมาเป็นส่วนขยายพันธุ์ สปอร์ถูกลม หรือน้ำ เป็นตัวช่วยพัดพาไปในการแพร่ระบาด
    การป้องกันกําจัด
    1. ตัดแต่กิ่ง กําจัดวัชพืชใต้ทรงพุ่มเพื่อให้ลมพัดผ่าน และแสงแดดส่องผ่านได้ดี ไม่ปลูกถี่เกินไป
    2. เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารเคมี เช่น คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ ตามอัตราแนะนํา

    โรครากํามะหยี่ (Felt fungus)

    ������


    สาเหตุ: เชื้อรา Septobasidium bogoriense Pat.
    ลักษณะอาการ:
    พบตามกิ่งของมะม่วงและลิ้นจี่ โดยมีเส้นใยสีขาวหรือสีน้ำตาล ชมพูปนน้ำตาลอ่อนคล้ายกํามะหยี่ขึ้นปกคลุมรอบกิ่งเป็นช่วงสั้นๆ เมื่อตรวจดูผิวเปลือกใต้แผ่นเชื้อราที่ปกคลุมในระยะแรก พบว่ายังมีลักษณะของเนื้อไม่ปกติ บางครั้งพบเพลี้ยหอยอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากกิ่ง อยู่ภายใต้แผ่นรากํามะหยี่ที่ห่อหุ้ม ขณะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช เพลี้ยหอยจะขับถ่ายน้ำหวานออกมาซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราและการที่เชื้อราสร้างแผ่นคล้ายกํามะหยี่ห่อหุ้มเพลี้ยหอย เพื่อปกป้องเพลี้ยหอยจากตัวห้ำ ตัวเบียนทั้งหลายที่จะมาทําอันรายต่อเพลี้ยหอย จึงเป็นการอาศัยอยู่แบบพึ่งพากันหรืออยู่ร่วมกัน แต่ภายหลังที่เชื้อราเจริญเป็นจํานวนมากแล้ว อาจดูดกินตัวเพลี้ยหอยเป็นอาหารและพบว่าทําให้ส่วนเนื้อไม้แห้ง ทําให้ปลายกิ่งเหี่ยวแห้งตามไปด้วย ส่วนใหญ่พบในสภาพสานมะม่วงที่มีทรงพุ่มทึบ และมีสภาพความชื้นสูง
    การป้องกันกําจัด
    1. ตัดแต่งกิ่งให้ทรงพุ่มโปร่ง
    2. ตัดส่วนที่พบโรคไปเผาทําลาย หรือขูดเอาส่วนที่เป็นโรครากํามะหยี่ห่อหุ้มออก แล้วพ่นด้วยน้ำมันปิโตรเลียม หรือไวท์ออยล์ เพื่อกําจัดเพลี้ยหอย

    โรคเปลือกแตก ยางไหล (Bark Cracking and Gummosis)

    ���


    สาเหตุ: เชื้อไวรัสหรือไวรอยด์ (Virus, Viroid)
    ลักษณะอาการ
    กิ่งและลําต้นมะม่วงแสดงอาการเปลือกแห้งแตกตามความยาว และตามขวางของลําต้นรอบกิ่งมียางไหลตามรอยแตก นอกจากนั้นยังพบเนื้อไม้ภายในมีสีน้ำตาล เนื้อไม้ใต้เปลือกแสดงอาการรอยแตกบุ๋ม (woodpeg) ตามความยาวของกิ่งคล้ายอาการของโรค exocortis ในส้ม มีรายงานในประเทศออสเตรเลีย ฮาวายและโคลอมเบีย อาการเปลือกแตกลุกลามขึ้นส่วนยอด กิ่งอ่อนที่เป็นโรคบวมและเปราะ โน้มหักได้ง่ายไม่แตกกิ่งและชะงักการเจริญเติบโต หรือยอดแห้งตาย พันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ คือ มะม่วงพันธุ์พิมเสนมัน พันธุ์แรดและพันธุ์มหาชนก เชื้อสาเหตุถ่ายทอดไปยังยอดพันธุ์ หรือต้นตอ เมื่อใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นที่เป็นโรคเป็นส่วนขยายพันธุ์โดยการติดตาเสียบกิ่ง หรือติดกับเครื่องมือตัดแต่งกิ่งจากต้นที่เป็นโรคสู่ต้นปกติ
    การป้องกันกําจัด
    1. หลีกเลี่ยงการใช้ส่วนขยายพันธุ์จากต้นที่เป็นโรคเปลือกแตกยางไหล
    2. โค่นทําลายต้นที่เป็นโรค เพื่อป้องกันน้ำคั้นจากต้นที่เป็นโรคแพร่ระบาดทางเครื่องมือการเกษตรไปยังต้นอื่น ๆ
    3. อุปกรณ์ที่ใช้ในสวนควรทําความสะอาดให้ปลอดจากเชื้อ โดยแช่ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์(ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) ก่อนที่จะนําไปใช้กับต้นต่อไป

    โรคยางไหล กิ่งแห้ง (Gummosis and twig blight)

    ���


    สาเหตุ: เชื้อรา Lasiodiplodia theobromae (Pst.)
    Griffon & Maubl. (Botryodiplodia theobromae Pal.)
    ลักษณะอาการ
    บริเวณลําต้นและกิ่งมะม่วงบางพันธุ์มีลักษณะเป็นจุดน้ำยางสีน้ำตาลแตกไหลเยิ้มออกมาจากผิว และไหลย้อยลงส่วนล่างของลําต้นหรือกิ่ง พบเกิดกระจัดกระจายบนลําต้นมะม่วง เมื่อตัดเนื้อเยื่อดูจะพบแอ่งบุ๋มของน้ำยางข้นสีขาวครีม และมีเนื้อเยื่อสีแดงเป็นเส้นยาวในเนื้อไม้พาดผ่านตําแหน่งที่เกิดโรคไปตามความยาวของลําต้น เชื้อราเมื่อเข้าทําลายยอดมะม่วงจะทําให้ยอดเหี่ยวแห้งตายเป็นยอด ๆ เมื่อถากดูเนื้อเยื่อเปลือกที่แห้งตายจะมีสีคล้ำ เชื้อราเข้าทําลายกิ่งตรงส่วนตาใบเมื่อตรวจดูโดยการใช้มีดถากกิ่งดูจะพบเนื้อเยื่อเน่าดําเป็นหย่อม ๆ ทั้งยอดและกิ่งแห้งตาย มักพบ pycnidium ของเชื้อราเจริญคลุมผิวในเวลาต่อมา พันธุ์ที่อ่อนแอกับโรคนี้ คือ พันธุ์เขียวเสวย และพันธุ์มหาชนก พบบ้างเล็กน้อย คือ พันธุ์โชคอนันต์สปอร์เชื้อราจากกิ่งที่เป็นโรคแพร่ระบาดในสวนมะม่วงเข้าทําลายส่วนกิ่ง หรือลําต้นทางบาดแผลที่เกิดจากการเสียดสีของกิ่งหรือมีแมลงเจาะกินเนื้อไม้ รอยแผลที่เกิดจากการตัดแต่งกิ่ง และทางรอยร่วงของใบ (leaf scar) เข้าทางตาใบของกิ่งและยอดอ่อน สภาพอากาศที่ร้อน และต้นพืชขาดน้ำ โรคระบาดได้รุนแรงทําให้กิ่งตายเป็นหย่อมๆ ทั่วทั้งต้น
    การป้องกันกําจัด
    1. โดยการตัดแต่งกิ่งให้โปร่งให้มีอากาศถ่ายเท
    2. ใช้สารป้องกันกําจัดเชื้อราฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น เช่น เบนโนมิล หรือ คาร์เบนดาซิม ตามอัตราแนะนํา
    3. ต้นมะม่วงที่ยางไหลใช้มีดคม ๆ กรีดเนื้อเยื้อบริเวณแอ่งยาง และเนื้อเยื้อสีแดงออก และทาด้วยเบน
    โนมิลเข้มข้นจะทําให้ผิวยางหลุดไหล และลําต้นฟื้นภายใน 2-3 เดือน
    4. ควบคุมแมลงศัตรูของมะม่วงที่จะทําให้เกิดแผลกับต้นพืชโดยการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันกําจัดแมลง
    5. อุปกรณ์ที่ใช้ในสวนควรทําความสะอาดให้ปลอดจากเชื้อ โดยแช่ในสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์
    (ไฮเตอร์, คลอรอกซ์) ก่อนที่จะนําไปใช้กับต้นต่อไป

    โรคราดํา (Sooty mold)


    ���


    สาเหตุ: เชื้อรา Meliola mangiferae Earle
    เชื้อรา Capnodium mangiferae Cooks Broom และเชื้อราชนิดอื่นอีกหลายชนิด
    ลักษณะอาการ
    กลุ่มเชื้อราดําเจริญเป็นกลุ่มบนใบ กิ่ง ยอด และช่อดอก เชื้อเจริญบนของเหลวที่แมลงขับถ่าย เช่นเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยกระโดด เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยไก่แจ้ และแมลงปากดูดบางชนิด เจริญเป็นแผ่นบางๆมักเกิดกระจัดกระจายบนใบ และเจริญเชื่อมกันทําให้เห็นเป็นปื้นสีดํา เชื้อราจะไม่เข้าทําลายเนื้อเยื่อของมะม่วงแต่เชื้อที่เคลือบอยู่บนใบจะทําให้การสังเคราะห์แสงได้น้อยลง เมื่อเจริญอยู่บนผลจะเริ่มเข้าตั้งแต่ขั้วผล แต่จะไม่คลุมทั้งผล ทําให้ผิวมะม่วงสกปรก คุณภาพและราคาของผลผลิตลดลง ในสภาพความชื้นสูงในพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดดและรอบพุ่มภายนอกที่มีการระบาดของแมลงมาก เพลี้ยจักจั่นมะม่วงเป็นแมลงที่ระบาด ดูดกินน้ำเลี้ยงจากยอดอ่อน ช่อดอก และขับถ่ายลงบนบริเวณนั้น ทําให้เชื้อราดําที่อยู่ในอากาศเจริญปกคลุม
    การป้องกันกําจัด
    1. ฉีดพ่นสารป้องกันกําจัดแมลง เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง และควรฉีดพ่นในช่วง ระยะวัยอ่อนของแมลงจึงจะควบคุมได้ผลดี
    2. ควรฉีดพ่นสารป้องกันกําจัดเชื้อราประเภททองแดง เช่น คอปเปอร์ออกซี่คลอไรด์ หรือ แมนโคเซบตามอัตราแนะนํา ผสมสารจับใบฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม
    3. หลังเก็บเกี่ยวตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง แสงแดดส่องถึง มีอากาศถ่ายเทได้ดี

    ศัตรูพืชในมะม่วง

    แมลงบั่วมะม่วง/บั่วปมในมะม่วง (Mango gall midge)


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Erosomyia mangiferae Felt
    ลักษณะการเข้าทําลาย:
    แมลงบั่วเป็นแมลงปากซับดูด ตัวเต็มวัยเข้าทําลายพืชลักษณะคล้ายยุง มีลําตัวสีเขียว สามารถทําลายได้ตั้งแต่ใบ ดอก ผลอ่อน
    ใบ; พบอาการตั้งแต่ใบอ่อนจนถึงใบแก่ โดยพบตุ่มบนหลังใบขนาดเล็กประมาณ 0.1-0.2 มิลลิเมตร ตอนแรกจะเป็นสีเหลืองต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเป็นสีดําในที่สุด มีรูที่ตุ่มด้านบนเป็นร่องรอยของแมลงบั่วเจาะออกไป
    ดอก; มีลักษณะบวมโป่งพอง ขนาดของดอกโตกว่าดอกปกติ เมื่อผ่าดอกจะพบหนอนสีครีมใสหลายตัว
    ผลอ่อน; ผลอ่อนโป่งพองใสกลม และพบจุดสีน้ำตาลหรือดําที่ผลเป็นร่องรอยการเจาะออกของแมลงและทําให้ผลมะม่วงร่วงเสียหายมาก
    จะพบปุ่มปมบนใบมะม่วงในสวนมะม่วงทั่วไปที่ไม่ค่อยดูแลและตัดแต่งกิ่งซึ่งเป็นแหล่งสะสมของแมลงเมื่อ ถึงฤดูกาลติดดอกออกผลของมะม่วง ระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ แมลงจะเข้าทําลายดอก และผลอ่อนของมะม่วงจะทําให้ดอกและผลอ่อนของมะม่วงร่วงหล่นเสียหาย

    ���


    การป้องกันกําจัด
    1. หลังเก็บเกี่ยวมะม่วงเสร็จในแต่ละฤดูกาลควรมีการตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ไม่เป็นที่สะสมของแมลงและโรค
    2. ในเขตที่เคยพบแมลงระบาด ควรสํารวจแปลงมะม่วงสม่ำเสมอถ้าพบการทําลายให้รีบป้องกันกําจัดด้วยสารเคมี คาร์บาริล หรืออิมิดาโคลพริด ตามอัตราแนะนํา

    เพลี้ยไฟมะม่วง (Thrips)

    ������


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Scirtothrips dorsalis
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    เพลี้ยไฟอาศัยอยู่เป็นกลุ่มตามตาดอก ใบอ่อน และขั้วผล ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยใช้ปากเจาะและดูดน้ำเลี้ยงบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอกมะม่วง การทําลายในระยะติดดอกจะทําให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผล หรือทําให้ผลติดน้อย สําหรับใบที่มีขนาดโตแล้วเพลี้ยไฟมักลงทําลายตามขอบใบทําให้ใบม้วนงอ และปลายใบไหม้ หากรุนแรงจะทําให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบ ผลเล็กๆ ที่ถูกเพลี้ยไฟทําลายจะร่วงหล่น ผลอ่อนที่ถูกทําลายผิวจะเป็นรอยด่างสีน้ำตาล ลักษณะเป็นขี้กลาก
    การป้องกันกําจัด
    1. ฉีดพ่นด้วยสารฆ่าแมลงในระยะติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอก และระยะเริ่มติดผลขนาดประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร
    2. หากพบเพลี้ยไฟระบาดรุนแรงควรฉีดพ่นด้วยแลมป์ด้าไซฮาโลธริน หรือ ไดเมทโธเอท ตามอัตราแนะนํา

    เพลี้ยจักจั่นมะม่วง

    ���


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Idioscopus clypealis (Lethierry),
    Idioscopus niveosparsus (Lethierry)
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    เพลี้ยจักจั่นมะม่วงจัดเป็นศัตรูมะม่วงที่มีความสําคัญ พบระบาดทุกพื้นที่ ที่มีการปลูกมะม่วงและพบปริมาณสูงในช่วงที่มะม่วงออกดอก ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกมะม่วง ทําให้ช่อดอกแห้งเป็นสีน้ำตาล มักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ นอกจากดูดกินน้ำเลี้ยงตามช่อดอกแล้วยังพบดูดกินจากใบอ่อน และส่วนของก้านช่อใบอ่อน ทําให้เหี่ยวแห้ง ขณะดูดกินเพลี้ยจักจั่นจะขับถ่ายน้ำหวานออกมาเปรอะเปื้อนตามใบ ทําให้เกิดราดําคลุมบนช่อดอก และบนใบ
    การป้องกันกําจัด
    1. ช่วงก่อนมะม่วงออกดอกควรตรวจดูเพลี้ยจักจั่น หากพบปริมาณมาก ฉีดพ่นด้วยสารเคมีฆ่าแมลง 1สัปดาห์ ก่อนออกดอก เช่น แลมป์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 10 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ ไซฟลูทริน อัตรา10 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด อัตรา 15 มล./น้ำ 20 ลิตร เลือกพ่นอย่างใดอย่างหนึ่ง
    2. หากพบปริมาณที่ไม่มากนัก ให้ใช้สารสกัดสะเดา
    3. ควรพ่นสารเคมีในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น ในระยะวันอ่อนของแมลง
    4. ตัดแต่กิ่งทรงพุ่มให้โปร่งหลังเก็บเกี่ยว จะทําให้แสงแดดส่องทั่วทรงพุ่ม อากาศถ่ายเทได้ดีซึ่งช่วยลดพื้นที่อยู่อาศัยของแมลงในทรงพุ่มได้

    เพลี้ยหอยข้าวตอก


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Ceroplastes pseudoceriferus
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    เพลี้ยหอยข้าวตอกจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากส่วนต่างๆ ของกิ่งและผล และขับถ่ายของเหลวออกมามีลักษณะคล้ายน้ำเชื่อม ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเชื้อราดํา ทําให้มีราดําจับตามกิ่ง ช่อใบ หรือผล ที่เพลี้ยหอยเกาะอาศัย ถ้าพบทําลายจํานวนมาก ทําให้กิ่งแห้ง ผลสกปรก เสียคุณภาพ
    การป้องกันกําจัด
    1. ควรป้องกันกําจัดตั้งแต่ระยะผลยังเล็กอยู่โดยใช้น้ำมันปิโตรเลียม หรือ ไวท์ออยล์
    2. หลังเก็บเกี่ยวควรตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง

    แมลงวันผลไม้(Oriental fruit fly)

    ���


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Baetrocera spp.
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    แมลงวันผลไม้จัดเป็นแมลงศัตรูที่มีความสําคัญ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตในระยะเก็บเกี่ยวความเสียหายเกิดจากแมลงวันเพศเมียใช้อวัยวะวางไข่แทงเข้าไปในผลไม้ เมื่อไข่ฟักเป็นหนอนจะชอนไชกินเนื้อผลไม้ที่แมลงวันเริ่มวางไข่ ในระยะแรกความเสียหายบนผลจะสังเกตได้ยาก จากนั้นประมาณ 4-5 วัน ขณะที่หนอนชอนไชในผลจะมีรอยช้ำ และมีน้ำไหลเยิ้ม มีเชื้อโรคอื่นๆ ตามเข้ามาซ้ำเติม ทําให้ผลเน่าเสีย ร่วงหล่น พบแมลงวันผลไม้ได้ตลอดทั้งปีแต่จะพบปริมาณสูงในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน
    การป้องกันกําจัด
    1. หมั่นสํารวจต้นมะม่วงอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ออกดอกไปจนถึงระยะเก็บเกี่ยวโดยใช้กับดักและใช้สารล่อเช่น เมทธิลยูจินอล เพื่อล่อแมลงวันเพศผู้ ผสมสารฆ่าแมลง เช่น เฟนิโตรไธออน อัตราส่วน 1:1 หรือผสมกับ มาลาไทออน อัตรา 1:2 หยดบนสําลีแล้วใส่ในกับดัก วางไร่ละ 5-10 จุด
    2. พ่นด้วยเหยื่อโปรตีนไฮโดรไลเซท 200 มล. ผสมสารฆ่าแมลงมาลาไทออน 20 มล. พ่นเป็นต้น ต้นละ 4 จุด ทุกทิศทาง จุดละประมาณ 10-30 มล. ในเวลาเช้าตรู่ พ่นทุก 7 วัน ประมาณ 4 ครั้ง
    3. เก็บรวบรวมผลไม้ที่เน่าเสียจากการถูกแมลงวันผลไม้เข้าทําลายไปเผา หรือฝัง
    4. ห่อผลไม้เพื่อป้องกันการเข้าไปวางไข่

    ด้วงเจาะลําต้นมะม่วง (Mango stem borer beetles)

    ������


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Olenocamptus optatus Pascoe., Batocera rubus L.
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    ต้นมะม่วงที่พบด้วงเจาะลําต้นมักจะเป็นต้นมะม่วงที่เป็นโรคยางไหลหรือเริ่มทรุดโทรมจากสาเหตุอื่นๆ ซึ่งจะดึงดูดให้ด้วงปีกแข็งหลายชนิดมาวางไข่ดังนั้นแต่ละกิ่งและลําต้นจึงพบหนอนของด้วงปีกแข็งหลายชนิดเจาะกิ่งและลําต้นมะม่วงในต้นเดียวกัน ซึ่งทําให้ต้นที่เริ่มทรุดโทรมตายเร็วมากยิ่งขึ้น
    การป้องกันกําจัด
    1. ตัดแต่งกิ่งสม่ำเสมอ และกําจัดกิ่ง หรือต้นที่ถูกหนอนทําลายจนทรุดโทรม เพื่อลดการระบาดของหนอนภายในสวน
    2. พ่นด้วยสารเคมีไดเมทโธเอท 0.5 ลิตร ผสมกับน้ำมันปืโตรเลียม 2 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นบริเวณที่พบร่องรอยการเข้าทําลายของหนอนโดยเฉพาะ ใช้หัวฉีดสอดเข้าไปตรงช่องทางที่หนอนเจาะ และฉีดซ้ำถ้ายังพบร่องรอยการเข้าทําลายใหม่อีก

    เพลี้ยหอยมะม่วง (Mango seales)

    ���


    ชื่อวิทยาศาสตร์: Aulacaspis tubercularis Newstead
    ลักษณะการเข้าทําลาย
    เพลี้ยหอยดูดกินน้ำเลี้ยงบนใบ กิ่งอ่อน และผล เมื่อพลิกดูใต้ใบส่วนที่เพลี้ยหอยดูดกิน มีสีเหลือง รอยดูดกินของเพลี้ยหอยบนผลมะม่วงเป็นวงด่างบนผิวผลและบนผลมีสีเหลืองเป็นวงๆ ทําให้ผิวผลไม่สวย น้ำหวานที่เพลี้ยหอยขับออกมาขณะดูดกิน ทําให้มีเชื้อราดําขึ้นปกคลุมใบและบนผล เพลี้ยหอยเพศเมียมีรูปร่างกลมสีขาวและมักจะพบคราบของตัวอ่อนเป็นสีเทาอยู่ด้านหลัง ตัวเมียแต่ละตัวผลิตไข่ประมาณ 50 ฟอง ภายใต้แผ่นไขสีขาวที่ห่อหุ้มเมื่อฟักออกเป็นตัวอ่อนจะเคลื่อนย้ายไปยังส่วนที่เป็นอาหารใบใหม่
    การป้องกันกําจัด
    1. ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มให้โปร่ง
    2. พบระบาดรุนแรงพ่นด้วยโปรไทโอฟอส 50% EC อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร

     


    มะม่วง( 17 รายการ )

    ออสโมโค้ท-พลัส

    สูตร 12-25-6+1%
    รหัสสินค้า A2889
    ผลิต 2025-06-01

    29.00 - 35.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    กวางตุ้งดอก เขียวอำพัน

    100 กรัม ความงอก 70%
    รหัสสินค้า A230
    หมดอายุ 3/70

    69.00 - 99.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    ผักโขมก้านแดง

    3 กรัม ความงอก 85%
    รหัสสินค้า A168
    หมดอายุ 8/69

    10.00 - 12.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    ผักโขมก้านแดง

    30 กรัม ความงอก 85%
    รหัสสินค้า A167
    หมดอายุ 8/69

    69.00 - 89.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    โฟแมกซ์

    คัลเซียมโบรอน 400
    รหัสสินค้า A3087
    ไม่ระบุ

    269.00 - 299.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    สตาร์เกิล ยกลัง

    15 กรัม X 200 ซอง
    รหัสสินค้า A4641

    6,499.00 - 6,799.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    เอ็กซอล แบบซอง ยกลัง

    4 X 50 X 15ml.
    รหัสสินค้า A4395

    18,399.00 - 18,599.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    เอ็กซอล

    สไปนีโทแรม
    รหัสสินค้า A3889
    ไม่ระบุ

    4,659.00 - 4,799.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    เอ็กซอล

    สไปนีโทแรม
    รหัสสินค้า A2939
    ไม่ระบุ

    1,229.00 - 1,249.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    เอ็กซอล แบบซอง 15 ml

    สไปนีโทแรม 12%W/V SC
    รหัสสินค้า A185

    99.00 - 119.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    เอ็กซอล

    สไปนีโทแรม
    รหัสสินค้า A4028

    29,099.00 - 29,259.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    พรีดิคท์ 25 เอฟ

    แพกโคลบิวทราซอล
    รหัสสินค้า A80

    549.00 - 599.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    พรีดิคท์ 10%

    แพกโคลบิวทราซอล 10% WP
    รหัสสินค้า A78
    ไม่ระบุ

    169.00 - 199.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    แอคทารา 25ดับบลิวจี

    ไทอะมีทอกแซม
    รหัสสินค้า A147
    ไม่ระบุ

    429.00 - 499.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    ปวยเล้ง

    2 กรัม ความงอก 85%
    รหัสสินค้า A84
    หมดอายุ 2/70

    10.00 - 12.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    ฟอสฟิทอล เอ็กซ์ตร้า

    สูตร 0-30-18
    รหัสสินค้า A119

    289.00 - 349.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข

    ออสโมโค้ท-พลัส

    12-25-6+1% แมกนีเซียม
    รหัสสินค้า A210
    ผลิต 2024-03-01

    179.00 - 189.00 ฿
    จัดส่งฟรี เงื่อนไข