LINE it!
 @allkaset





  • โรคและแมลงที่สำคัญของพริก 

    โรคแอนแทรคโนส (Anthracnose)

              แอนแทรคโนสเป็นโรคที่ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดและทำความเสียหายที่ผลพริก ซึ่งชาวบ้านทั่วๆ ไปรู้จักกันในชื่อของโรคกุ้งแห้ง เนื่องจากลักษณะอาการแห้ง หงิกงอ และสีของผลพริกที่เปลี่ยนโป โรคนี้พบระบาดทำความเสียหายให้แก่พริกชนิดต่างๆ เช่น พริกมันแดง พริกบางช้าง พริกเหลือง พริกหนุ่ม ฯลฯ ในแหล่งที่มีการปลูก
    ลักษณะอาการ ผลพริกเริ่มเป็นแผลหรือจุดช้ำเป็นแอ่งยุบลง ลักษณะอาจกลมหรือไม่แน่นอน ขนาดก็ตั้งแต่จุดเล็กๆ ไปจนเต็มความกว้างของผลพริก อาจมีเพียงแผลเดียวหรือหลายแผลก็ได้ แผลเหล่านี้ต่อมาจะแห้งเป็นสีนํ้าตาลหรือดำพร้อมกับการสร้าง fruiting body ซึ่งเป็นที่เกิดของสปอร์หรือโคนิเดีย เป็นจุดสีเหลืองส้มหรือน้ำตาลดำเป็นวงๆ เรียงซ้อนกันอยู่ที่แผลดังกล่าวเชื้อจะเข้าทำลายผลพริกได้ทุกระยะการเจริญตั้งแต่เริ่มเป็นผลเล็กๆ จนโตเต็มที่และสุกแดงแล้ว อย่างไรก็ดีหากเป็นระยะที่ยังอ่อนเซลล์บริเวณแผลซึ่งถูกทำลาย จะหยุดการเจริญเติบโตขณะเดียวกันส่วนรอบๆ จะเจริญไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดอาการคดโค้งงอหรือบิดเบี้ยวขึ้นโดยมีแผล หรือเซลล์ที่ตายอยู่ด้านใน ลักษณะคล้ายกุ้งแห้งทำให้มีชื่อ เรียกดังกล่าว
    พริกที่เป็นโรคตามธรรมชาติมักแสดงอาการให้เห็นชัดเจนบนผลพริกที่แก่จัดหรือผลสุก ส่วนอาการบนใบ ยอดอ่อน และกิ่งจะเกิดโรคต่อเมื่อสิ่งแวดล้อมเหมาะสม โรคนี้ถ้าเกิดกับต้นกล้าจะทำให้ต้นกล้าแห้งตาย (seedling blight)
    การป้องกันกำจัด
              1. เมล็ดพันธุ์ควรเก็บจากแปลงที่ไม่เป็นโรคมาก่อน ถ้าจำเป็นต้องเก็บจากแปลงที่เป็นโรค ก่อนปลูกควรทำ seed treatment เช่น hot water treatment ใช้อุณหภูมิ 50-52 องศาเซลเซียส นาน 30 นาที พบว่าได้ผลดีมาก หรือใช้สารเคมี Delsene MX คลุกเมล็ดในอัตรา 0.8% ของนํ้าหนักเมล็ดก็ได้ผลดีเช่นกัน
              2. ปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพืชที่ไม่อยู่ในวงศ์ Solanaceae และหมั่นทำลายวัชพืช จัดการระบายนํ้าให้ดี ตลอดจนเก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้ทำลายเสีย
              3. หลังจากเก็บพริกจากต้นแล้วและอยู่ในระหว่างการขนส่ง ควรเก็บไว้ในที่เย็น ภายใต้อุณหภูมิคงที่ พริกจะไม่ค่อยเกิดโรค
              4. เมื่อต้นพริกโตแล้ว ฉีดสารเคมีป้องกันไม่ให้เกิดโรค เช่น imazalil, prochloraz, benomyl, carbendazim, mancozeb, maneb และ Delsene MX เป็นต้น

    โรคเหี่ยวของพริกจากเชื้อราหรือโรคหัวโกร๋น

    การทำลาย โรคนี้จะแตกต่างจากอาการเหี่ยวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยอาการเหี่ยวจากเชื้อราจะเริ่มจากใบล่างก่อน แล้วจึงค่อยแสดงอาการที่ใบบน ต่อมาใบที่เหลืองจะเหี่ยวลู่ลงดินและร่วง ต้นพริกจะแสดงอาการในระยะผลิดอกออกผล ฉะนั้น อาจทำความเสียหายต่อดอกและลูกอ่อนด้วย เมื่อตัดดูลำต้นจะพบว่าเนื้อเยื่อท่อลำเลียงอาหารเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลไหม้ แสดงว่าต้นจะเหี่ยวตายในที่สุด
    การป้องกันกำจัด
              1. เมื่อปรับดินปลูกแล้วควรโรยด้วยปูนขาว จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา
              2.ถอนหรือขุดต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอผสมน้ำตามอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค
              3. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับพริก ไม่ควรปลูกพริกซ้ำที่บ่อยๆ
              4. ควรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ให้มากกว่าปุ๋ยวิทยาศาสตร์ เพื่อป้องกันดินเป็นกรด และเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน
              5. ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย มีการระบายน้ำดี

    โรคโคนเน่าหรือต้นเน่า
    การทำลาย ใบจะเหลืองและร่วง โคนต้นและรากจะเน่าเปื่อยเป็นสีน้ำตาล ต้นพริกจะเหี่ยวตาย แต่จะระบาดมากในระหว่างที่มีการผลิดอกออกผล อาการของโรคเน่าหรือต้นเน่านี้จะแตกต่างกับโรคพริกหัวโกร๋นคือ ยอดจะไม่หลุดร่วงไป
    การป้องกันกำจัด
              1. หมั่นตรวจต้นพริกดูว่าเป็นโรคหรือไม่
              2. ขุดหรือถอนต้นพริกที่เป็ นโรคเผาทิ้ง แล้วใช้สารเคมีเทอราคลอผสมน้ำตามอัตราส่วนคำแนะนำในฉลากเทราดลงในหลุมที่เป็นโรค หรือไช้ฟอร์มาลินผสมน้ำในอัตราส่วน 1 :50 ราดลงบริเวณโคนต้นที่เป็ นโรคและระวังอย่าให้ไหลไปสู้ต้นอื่นเพราะจะเป็นการแพร่เชื้อโรค
              3. ในการเตรียมดินปลูกควรเพิ่มปูนขาวเพื่อให้ดินเป็นด่าง เพราะถ้าดินเป็นกรดจะเกิดโรคนี้ได้ง่าย
              4. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับกับการปลูกพริก

    โรคใบจุดที่เกิดจากเชื้อรา Cercospora (Cercospora leaf spot)
              ใบจุดของพริกที่เกิดจากรา Cercospora sp. เป็น โรคปกติธรรมดาที่จะพบได้ทั่วไปในทุกแห่งที่มีการปลูกโดยจะเป็นกับใบแก่เพียง 2-3 ใบที่อยู่ตอนล่างๆ ของต้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ในบางท้องถิ่นที่มีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม เอื้ออำนวยต่อเชื้อก็จะกลายเป็นโรคที่สร้างความเสียหายรุนแรงได้
    ลักษณะอาการ โรคจะเข้าทำลายก่อเกิดอาการได้ทุกส่วนของต้นพริกไม่ว่าจะเป็นต้น กิ่ง ก้านใบ กลีบดอก ผล และขั้วผล บนใบแผลจะเริ่มจากจุดเซลล์ตายเล็กๆ ค่อนข้างกลมแล้วค่อยขยายใหญ่ขึ้นเปลี่ยนเป็นแผลสีเหลืองซีดจางขอบเข้ม ตอนกลางบางมีสีจางหรือเป็นจุดขาว ปกติแล้วแผลจะมีขนาด ราว 3-4 มิลลิเมตร แต่ถ้าเกิดเดี่ยวบางครั้งอาจมีขนาดโตถึง 1 เซนติเมตรใบที่เกิดแผลมากๆ เนื้อใบจะเหลืองทั้งใบ แล้วร่วงหลุดจากต้น ในต้นที่เป็นรุนแรงใบจะร่วงหมดทั้งต้น ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดความเสียหายคือต้นโทรมไม่ออกผล แต่ถ้าเป็นในระยะที่ให้ผลแล้วเมื่อได้รับแสงอาทิตย์เต็มที่จะทำให้เกิดอาการไหม้ตายนึ่ง (sunburn) ขึ้นกับผลพริกเนื่องจากไม่มีใบช่วยบังแสงให้ ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้ออื่นเข้าทำลายได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับอาการแผลบนต้น กิ่ง ก้าน มีลักษณะเป็นแผลยาวสีดำหรือนํ้าตาลเข้ม หากเกิดมากๆ จะทำลายกิ่ง ก้าน เหล่านั้นให้แห้งตายได้ และถ้าเกิดแผลที่ขั้วผลก็จะทำให้ผลร่วง
    การป้องกันกำจัด
              1. เลือกใข้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อ
              2. หลีกเลี่ยงการปลูกพริกในแปลงที่เคยมีโรคระบาดมาก่อนอย่างน้อย 2 ปี
              3. เมื่อเกิดโรคระบาดรุนแรงสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ คลอโรธาไลนิล, สารผสมระหว่างเบนโนมิล หรือคาร์เบนดาซิม และแมนโคเซ็บ, มาเน็บ หรือซีเน็บ

    เพลี้ยไฟ


    รูปร่างลักษณะ เพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก สีน้ำตาลอ่อน ลำตัวผอมยาว มีขนาด 1.0 มิลลิเมตรหากดูด้วยตาเปล่าจะต้องใช้ความสังเกตเป็นพิเศษจึงจะมองเห็นได้ ตัวแก่มีปีก 2 คู่เรียวยาว ประกอบด้วยขนเส้นเล็ก ตัวอ่อนจะยังไม่มีปีกและมีขนาดเล็กกว่าตัวแก่ ตัวแก่เคลื่อนไหวได้เร็ว
    การทำลาย เพลี้ยไฟจะระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อมีฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยจะทำลายใบอ่อนและตาดอก ลักษณะการทำลายใบจะห่อปิด ขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ลำต้นแคระแกร็น ไม่เจริญเติบโต และจะทำลายผลพริกให้หงิกงอไม่ได้คุณภาพ
    การป้องกันกำจัด เพลี้ยไฟชอบหลบอยู่ตามใต้ใบ ตามซอกยอดอ่อนในดอก เวลาพ่นควรใช้เครื่องมือที่สามารถพ่นได้อย่างทั่วถึงการเลือกยาที่เหมาะสมควรทำดังนี้ คือ ถ้าปลูกพริกในแหล่งที่มีการระบาดมานาน ควรเลือกใช้ยาที่ทำลายได้เฉพาะ เช่น อิมิดาคลอพิด แลนเนท เป็นต้น หรือใช้ระบบให้น้ำแบบสปริงเกอร์

    แมลงวันพริก (Dacus latifon)


              เป็นแมลงศัตรูพริกที่มีความสำคัญมาก ถ้ามีการระบาดสามารถทำลายผลผลิตให้เกิดความเสียหายได้มากถึง 60-100% เพศเมียวางไข่ที่ผลพริกเมื่อไข่ฟักออกมาจะทำให้ผลพริกเน่าเสียและร่วงหล่น การป้องกันกำจัดเก็บผลพริกที่ร่วงหล่นทำลายโดยการแช่น้ำไว้1-2 คืนแล้วนำไปทำปุ๋ยหมัก ใช้เชื้อราเมทาไรเซียมพ่นเป็นประจำ ถ้าจำเป็นจริงจึงควรใช้สารเคมี เช่น อิมิดาโคพิด อัตราส่วนตามที่ฉลากแนะนำ พ่นในแปลงพริกช่วง พริกติดผล